การตรวจสอบคุณภาพของแบบทดสอบหรือแบบวัดเจตคติ

          แบบทดสอบหรือแบบวัด เช่น แบบวัดเจตคติเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการวัดความรู้
ทัศนคติหรือเจตคติ เนื่องจากเป็นเครื่องมือวัดความรู้ บางครั้งอาจเรียกว่าข้อสอบ
          แบบทดสอบมีหลายประเภทใช้วัดความสามารถของบุคคล แบบวัดผลสัมฤทธิ์ได้แก่
ข้อสอบวิชาต่าง ๆ แบบทดสอบอาจใช้ประเมินความรู้ก่อนหรือหลังการฝึกอบรม ผู้สอนหรือ
ผู้รับผิดชอบมักเป็นผู้สร้างและพัฒนา บางกรณีก็มีข้อสอบมาตรฐานหรือชุดข้อสอบสำเร็จให้
เลือกใช้ แบบวัดความถนัดในการเรียนใช้วัดความสามารถหรือสมรรถภาพของบุคคลที่บ่งชี้ถึง
ศักยภาพในการเรียนมักเป็นแบบทดสอบมาตรฐานที่สร้างและพัฒนาไว้แล้ว แบบวัดความถนัด
เฉพาะเป็นการวัดความสามารถเฉพาะทางของบุคคลเช่น ความถนัดทางดนตรี หรือความถนัดทาง
วิชาชีพ แบบวัดบุคลิกภาพเป็นแบบวัดลักษณะบางประการของบุคคล เช่น ความสนใจ ความเป็นผู้นำ เป็นต้น ลักษณะเหล่านี้มีผลหรือบ่งชี้ถึงบุคลิกภาพหรือพฤติกรรมของบุคคล นอกจากนี้ยังมี
แบบวัดทัศนคติหรือแบบวัดเจตคติ เป็นเครื่องมือวัดสิ่งที่เป็นนามธรรมในตัวบุคคล ส่วนใหญ่เป็น
แบบวัดมาตรฐานที่สร้างขึ้นไว้แล้ว
          การตรวจสอบความเที่ยงตรง (Validity) ความเที่ยงตรงเป็นเรื่องที่จำเป็นมากเพราะเป็นการ
บ่งชี้ว่าเครื่องมือนี้วัดในสิ่งที่ประสงค์หรือต้องการวัด ถ้าเป็นเครื่องมือมาตรฐานหรือเป็นเครื่องมือที่
สร้างไว้ก่อนแล้วมักมีคำอธิบายว่าได้ดำเนินการตรวจสอบความเที่ยงตรงด้วยวิธีการใดและผลเป็น
อย่างไร โดยปกติแล้วเมื่อสร้างข้อสอบหรือข้อคำถามเรียบร้อยแล้ว มักจะให้ผู้เชี่ยวชาญหรือ
ผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องที่ศึกษาจำนวนหนึ่งเป็นผู้ตรวจสอบ จำนวนผู้เชี่ยวชาญไม่ได้
มีข้อกำหนดแน่นอนอาจมีจำนวน 1 - 3 คน (พิตร, 2544 : 222) หรืออาจใช้ 5 - 7 คน (สมคิด, 2538 :
33) แล้วแต่ความเหมาะสม โดยผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้พิจารณาความเที่ยงตรงตามเนื้อหาที่ทำการศึกษา
พิจารณาว่าเป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่ต้องการวัด ครอบคลุมครบถ้วนในประเด็นหรือด้านต่าง ๆ หรือ
ครอบถ้วนตามทฤษฎีซึ่งเป็นการตรวจสอบความเที่ยงตรงตามโครงสร้าง เมื่อผู้เชี่ยวชาญมีความเห็น
ว่าใช้ได้จึงถือว่าชุดข้อคำถามหรือเครื่องมือดังกล่าวมีความเที่ยวตรงแล้ว
          การตรวจสอบความเชื่อมั่น (Reliabity) ในการหาค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบกระทำ
โดยนำแบบทดสอบไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างกลุ่มหนึ่งซึ่งมิใช่กลุ่มตัวอย่างเดียวกับที่จะศึกษา
แล้วนำผลหรือข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยวิธีการทางสถิติ การตรวจสอบความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ
อาจกระทำได้ หลายวิธี เช่น
          1. การหาความเชื่อมั่นด้วยวิธีสอบซ้ำ (Test - Retest Method) ดำเนินการโดยนำ
แบบทดสอบไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง 2 ครั้ง โดยให้มีระยะห่างระหว่างครั้งแรกกับครั้งที่ 2
ยาวนานพอที่จะทำให้กลุ่มตัวอย่างลืมข้อคำถามที่ได้มีประสบการณ์จากครั้งแรก คือประมาณ 1 - 2
สัปดาห์ (สมคิด, 2538: 33) แล้วนำผลจากครั้งแรกและครั้งหลังมาวิเคราะห์เพื่อหาค่าความคงที่ โดย
อาศัยค่าสหสัมพันธ์แบบ Pearson - Product Moment Correlation ถ้าสัมประสิทธิสหสัมพันธ์ หรือ r
มีค่ามากหรือใกล้ 1.00 หมายความว่า มีความคงที่สูงหรือมีความเชื่อมั่นสูง แสดงว่าถ้าไม่มีอะไร
เปลี่ยนแปลงระหว่างการทดสอบครั้งแรกและการทดสอบครั้งหลัง บุคคลที่ได้ค่าคะแนนเท่าใดใน
ครั้งแรกมีแนวโน้ม ที่จะได้คะแนนในการทดสอบครั้งหลังไม่ต่างไปจากคะแนนการทดสอบครั้ง
แรก เกณฑ์การยอมรับมักถือว่าควรมีค่าความเชื่อมั่นไม่น้อยกว่า .85 (พิตร, 2544: 222)
          2. การหาความเชื่อมั่นด้วยวิธีแบ่งครึ่งแบบทดสอบ (Split - Half Method) การหาความ
เชื่อมั่นด้วยวิธีทดสอบซ้ำแสดงถึงว่าเมื่อเวลาเปลี่ยนไปหรือในช่วงเวลาที่ต่างกัน เครื่องมือที่มีความ
เชื่อมั่นสูงย่อมวัดสิ่งเดิมได้ค่าไม่แตกต่างไปจากเดิม แต่การหาความเชื่อมั่นดว้ ยวิธีแบ่งครึ่งแบบทดสอบเป็นการแสดงว่าข้อคำถาม 2 ชุด ที่เกิดจากการแบ่งครึ่งแบบทดสอบ มีแนวโน้มที่จะไป
ในทิศทางเดียวกัน (Babbie, 1998 : 132) หรือผู้ที่ได้คะแนนจากแบบทดสอบครึ่งชุดแรกก็ได้
คะแนนสูงในแบบทดสอบครึ่งชุดหลัง วิธีแบ่งครึ่งแบบทดสอบนี้หาความเชื่อมั่นโดยการนำไป
ทดสอบกับตัวอย่างเพียงครั้งเดียว แล้วแบ่งแบบทดสอบออกเป็นสองส่วนหรือสองชุด อาจเป็นข้อคู่
หรือข้อคี่ หรือแบ่งเป็นครึ่งแรกและครึ่งหลัง แล้วนำข้อมูลไปคำนวณหาค่า Pearson - Product
Moment Correlation จะได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบครึ่งฉบับ จากนั้นใช้สูตรขยาย
Spearman Brown เพื่อให้ได้ค่าความเชื่อมั่นเต็มทั้งฉบับ
          3. การหาความเชื่อมั่นโดยใช้สูตร Kuder - Richardson เป็นการหาความเชื่อมั่นที่สะดวก
นิยมใช้กรณีที่เป็นข้อสอบ หรือแบบทดสอบที่มีระบบการให้คะแนนถ้าตอบถูกได้ 1 คะแนน และ
ถ้าตอบผิดได้ 0 คะแนน หรือตอบถูกได้คะแนน ดำเนินการโดยนำแบบทดสอบไปทดลองใช้กับ
กลุ่มตัวอย่างเพียงครั้งเดียว นำข้อมูลที่ได้มาหาคะแนนเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานจากนั้นนำไป
เข้าสูตรของ Kuder - Richardson ก็จะได้ค่าความเชื่อมั่นแบบทดสอบ (พิตร, 2544 : 223) ถ้าค่าความ
เชื่อมั่นสูงอาจถือได้ว่าข้อคำถามในข้อสอบหรือแบบทดสอบชุดนี้วัดในเรื่องเดียวกัน
          การตรวจสอบความยาก ในกรณีที่เป็นข้อสอบการวิเคราะห์ความยากหรือความง่ายอาจช่วย
ในการพิจารณาคัดเลือกข้อสอบแต่ละข้อ การวิเคราะห์ความยากจึงเป็นการตรวจสอบคุณภาพ
ข้อสอบรายข้อ (พิตร, 2544 : 223) การตรวจสอบความยากมีแนวความคิดว่าข้อสอบที่เหมาะสมไม่
ควรยากมากหรือง่ายมากสำหรับกลุ่มที่จะเข้าสอบ ถ้ามีคนจำนวนมากทำข้อสอบข้อนั้นถูกต้อง
แสดงว่าข้อสอบข้อดังกล่าวมีความยากน้อย(ง่ายมาก) แต่ถ้ามีคนจำนวนน้อยหรือไม่มีผู้ใดทำ
ข้อสอบข้อนั้นถูกต้องแสดงว่าข้อสอบดังกล่าวยากมากหรือง่ายน้อยนั่นเอง การทดสอบความยาก
อาศัยค่า P ซึ่งคำนวณจากข้อมูลที่ได้จากการนำข้อสอบทั้งชุดไปทดลองสอบกับกลุ่มตัวอย่าง
ข้อสอบที่ไม่มีผู้ใดทำถูกเลย ค่า P = 0 และข้อสอบที่ทุกคนทำถูกมีค่า P = 1 ดังนั้นข้อสอบที่มีความ
ยากปานกลางจะมีค่า P= .50 คือมีผู้ทำถูกร้อยละ 50 ข้อสอบที่ถือว่าง่ายเกินไปมีค่า P มากกว่า .90
และข้อสอบที่ถือว่ายากเกินไปมีค่า P น้อยกว่า .10
          การตรวจสอบค่าอำนาจจำแนก ในกรณีที่ต้องการจำแนกความสามารถของบุคคล ควร
พิจารณาจากค่าอำนาจจำแนก (r) เป็นดัชนีบ่งบอกว่าข้อสอบข้อใดจำแนกได้ดี หมายความว่า ผู้ที่ทำ
ข้อสอบข้อดังกล่าวถูกเป็นสมาชิกของกลุ่มเก่ง ถ้าทำผิดก็เป็นสมาชิกของกลุ่มไม่เก่ง เป็นต้น
โดยทั่วไปนิยมเลือกข้อสอบที่มีค่า r สูงกว่า .20 (สมคิด, 2538 : 33) การหาค่าอำนาจจำแนก
ดำเนินการโดยนำข้อสอบทั้งชุดไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่าง ตรวจให้คะแนนแล้วลำดับคะแนน
จากสูงมาต่ำ จากนั้นเลือกจากผู้ได้คะแนนสูงสุดลดหลั่นลงมาจนครบจำนวนร้อยละ 27 ของผู้สอบ
เรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่มสูง ขณะเดียวกันก็เลือกจากผู้ได้คะแนนต่ำสุดและถัดขึ้นไปจนได้จำนวนร้อยละ
27 ของผู้สอบทั้งหมดเรียกกลุ่มนี้ว่ากลุ่มต่ำ แล้วนำกลุ่มสูงและกลุ่มต่ำไปวิเคราะห์รายข้อคำนวนหาร้อยละของจำนวนผู้ทำถูกที่เป็นสมาชิกกลุ่มสูงและร้อยละของจำนวนผู้ทำถูกที่เป็นสมาชิกกลุ่มต่ำ
ของข้อสอบแต่ละข้อจากนั้นนำไปหาค่า P และ r ต่อไป (พิตร, 2544 : 223 - 224) นอกจากการใช้
เทคนิคร้อยละ 27 อาจใช้เทคนิคร้อยละ 25 หรือร้อยละ 50 ก็ได้ทั้งนี้ขึ้นกับขนาดของกลุ่มตัวอย่าง