ข้อมูลการวิจัย

          ในการทำกิจกรรมวิชาโครงการทางอาชีวศึกษาด้วยวิธีการวิจัยนั้นย่อมต้องเกี่ยวข้องกับการ
เก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งข้อมูลอาจได้มาจากการอ่าน การสังเกต การวัด การ
ถามคำถาม หรือจากหลาย ๆ วิธีร่วมกัน ข้อมูลที่รวบรวมได้มีลักษณะดังนี้
          1. ข้อมูลอาจเป็นตัวเลขหรือข้อความหรือเป็นทั้งสองประเภทร่วมกันก็ได้
          2. ข้อมูลอาจเป็นข้อมูลปฐมภูมิหรือข้อมูลมือหนึ่งในความหมายที่ว่ายังไม่เคยมีการเก็บรวบรวมข้อมูลนี้มาก่อน ผู้วิจัยดำเนินการเก็บรวบรวมเป็นครั้งแรก หรืออาจเป็นข้อมูลทุติยภูมิหรือ
ข้อมูลมือสอง ซึ่งหมายถึงข้อมูลที่มีการเก็บรวบรวมโดยผู้อื่นมาก่อนแล้ว แต่ผู้วิจัยได้นำข้อมูลนั้น
มาใช้ใหม่ บางครั้งก็เป็นการนำมาใช้ใหม่ในบริบทหรือแนวคิดที่ต่างไปจากเดิม
          3. ข้อมูลอาจได้มาจากการตอบแบบสอบถามหรือผลการสัมภาษณ์หรือบันทึกการสังเกต
หรือการทดลอง หรือจากเอกสารและสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ หรือจากหลายวิธีร่วมกันก็ได้
          เมื่อนำกระบวนการวิจัยมาใช้เป็นกิจกรรมวิชาโครงการ การรวบรวมข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูล
ที่ถูกต้องหรือน่าเชื่อถือ ยอมรับได้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ข้อมูลที่รวบรวมนั้นก็คือค่าหรือลักษณะของ
ตัวแปรที่ทำการศึกษาหรือวิจัย ฉะนั้นตัวแปรแต่ละตัวแปรจึงมีค่าหรือลักษณะที่
ไม่คงที่แปรเปลี่ยนได้นั่นคืออาจมีหลายค่าหรือหลายลักษณะ
           ในการที่จะรู้ค่าหรือลักษณะของตัวแปรต้องดำเนินการวัด การวัดค่าตัวแปรทำได้หลายวิธี
เช่นในการทดลองต่าง ๆ อาจใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดตัวแปรที่เรียกว่าอุณหภูมิ หรือความร้อนแล้ว
บันทึกไว้ หรืออาจใช้นาฬิกาเพื่อวัดตัวแปรช่วงเวลา ค่าของหน่วยวัดอาจเป็นนาทีหรือวินาที ตาม
ความเหมาะสมแล้วบันทึกไว้ กรณีที่จะวัดตัวแปรพฤติกรรมอาจต้องใช้วิธีการสังเกต หรือวัดความ
คิดเห็นอาจสัมภาษณ์หรือสอบถาม เป็นต้น วิธีการวัดตัวแปรมีส่วนสำคัญต่อความถูกต้องหรือ
น่าเชื่อถือ ขณะเดียวกันเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้วัดค่าหรือลักษณะตัวแปรก็เป็นส่วนสำคัญที่มีผล
ต่อความถูกต้อง และการยอมรับค่าหรือลักษณะของตัวแปรที่วัดได้ เช่นตลับเมตรที่ใช้วัดความยาว
เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมในการวัดความยาว แต่ถ้าเป็นตลับเมตรที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน
ความน่าเชื่อถือ อาจน้อยหรือต่ำกว่าการวัดที่ใช้ตลับเมตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความยาว
เป็นต้น